+แม่กับผู้ชายที่หลงรักมักกะฮ์

Inside-Kaabah

 

-1-

เป็นที่รู้กันว่า “ฮัจญ์” เป็นหนึ่งในความฝันสูงสุดของชีวิตแม่

แม่อ่านหนังสือทุกเล่มเกี่ยวกับฮัจญ์ที่มีในท้องตลาด

และเฝ้ากำชับให้ใครต่อใครช่วยขอดุอาอ์ให้เสมอ นอกเหนือจากที่ตัวแม่เองก้็ขออย่างเต็มแรง

แต่กว่าชีวิตจะอนุญาติให้แม่ได้คิดเรื่องนี้จริงจังก็เมื่อลูกชายคนเล็กเข้าโรงเรียนประจำ

และความพร้อมในด้านอื่นๆ เริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้น

นั่นก็เป็นช่วงปีที่มีผู้ชายอีกคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตแม่พอดี

-2-

คุณต้องเคยได้ยินคนที่เคยไปฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ทำตาลอยเหมือนฝันหวานขณะพูดถึงความน่ารักน่าอยู่ของมะดีนะฮ์

แต่กับมักกะฮ์ หลายครั้ง…น้ำเสียงจะต่างไป

แน่นอนว่าความประเสิรฐของมัสญิดฮะรอมนั้นทุกคนยอมรับเต็มหัวใจ

แต่ความพลุกพล่านของผู้คน การก่อสร้างทื่ยืดเยื้อยาวนาน ระบบการจราจรที่ให้นิยามลำบาก และอะไรอีกหลายเรื่องก็ทำให้เราได้พบคนทำตาลอยอย่างหลงใหลเวลาพูดถึงเมืองมักกะฮ์ในภาพรวม ไม่ใช่แค่ตัวมัสญิดฮารอม น้อยครั้งกว่าคนที่มีท่าทางเช่นนั้นเวลาพูดถึงเมืองมะดีนะฮ์

คนแรกๆ ที่ชั้นได้เห็นท่าทางเช่นนั้นเมื่อพูดถึง “เมือง” มักกะฮ์ ก็คือ “เขา”

…ผู้ชายที่การได้พูดถึงมักกะฮ์และช่วงชีวิตสั้นๆ ที่เขาเคยได้ใช้ไปในเมืองนี้คือความสุขอย่างสำคัญประการหนึ่งในชีวิตเขา

…ผู้ชายที่ทำตาเขียวใส่ได้เสมอแค่เผลอพูดอะไรที่ไม่ใช่แง่งามของมักกะฮ์

ตอนที่เกิดเหตุเครนล้มในช่วงฤดูฮัจญ์สองปีก่อน เรากำลังฏอวาฟอยู่ด้วยกันที่ลานฏอวาฟชั้นล่างสุด…จุดที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุด แม้ไม่ได้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจะจะ แต่เราก็มีส่วนได้สัมผัสบรรยากาศของเหตุการณ์นั้นโดยตรง (ซึ่งซุบฮานัลลอฮฺมากที่สิ่งที่เราได้พบค่อนข้างจะต่างไปจากภาพที่เหตุการณ์นำไปสู่คนภายนอก เสียงตักบีรของเหล่าฮุจญาจที่ติดพายุฝนอยู่รอบกะอ์บะฮ์ในเวลานั้นซึ่งเป็นเย็นวันศุกร์อันประเสริฐยังกระหึ่มอยู่ในหูของฉันจนวันนี้)

เขาไม่เคยบอกใครว่าเราอยู่ตรงนั้นในเวลานั้น เมื่อฉันถาม เขาบอกว่า…ถ้าเราเข้าไปเยี่ยมบ้านของคนๆหนึ่งที่เราเคารพอย่างมาก แล้วเกิดเหตุบางอย่างขึ้นในบ้านหลังนั้น เราย่อมไม่มีทางเอาเรื่องที่ได้พบมาบอกเล่ากับผู้คนทั่วไปอย่างสนุกปาก…จริงไหม?

อาจด้วยความผูกพันที่เขามีต่อเมืองนี้ ด้วยดุอาอ์ หรือด้วยอะไรอีกหลายอย่าง ทำให้ตั้งแต่ฉันรู้จักเขามาร่วม 5 ปี อัลลอฮ์ก็พาเขากลับไปยังเมืองที่เขารักทุกๆปี (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ)

นั่นก็รวมถึงปีหนึ่ง…ที่เราวางแพลนกันไว้ด้วยหัวใจพองโตว่า…จะพาแม่ไปด้วย

-3-

การที่ผู้หญิงสักคนจะมีมะฮ์รอมในชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องใหญ่

น่าสนใจมากว่าแม่ยายกับลูกเขยจะเป็นมะฮ์รอม (ห้ามแต่งงาน) กันตลอดกาล แม้เมื่อความสัมพันธ์ฉันคู่ครองระหว่างลูกเขยกับลูกสาวจะจบลง

สำหรับคนที่มีแม่อยู่ในหัวใจเสมอ คงไม่สามารถลืมได้ขณะที่กำลังจะตัดสินใจเลือกใครสักคนมาร่วมชีวิตว่า

เรากำลังเลือกลูกชายอีกคนให้แม่ของเราด้วย

ความพอใจของพ่อแม่จึงเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากในการชั่ง-ตวง-วัด คุณสมบัติของคนที่เข้ารอบ

และความพอใจอันนี้มีผลอย่างสุดๆ ต่อความจำเริญที่จะเกิดขึ้นในชีวิตคู่

 

ตอนที่แม่ต้องนอนรักษาตัวยาวที่โรงพยาบาล

เขาอำนวยความสะดวกทุกอย่างเพื่อให้ฉันได้ไปอยู่โยงเฝ้าแม่

เขาไม่เคยพลาดโอกาสที่จะป็นคนรับ-ส่งแม่ไปโรงพยาบาล หากว่าตารางงานที่แน่นเอี้ยดพอจะจัดสรรได้

หลายครั้งเค้าต้องหอบงานมาทำในโรงพยาบาล  ขับรถอ้อมไปอ้อมมาทุกเช้าเย็นในเมืองที่เพียงแต่มองสภาพท้องถนนก็เพลียใจ เพียงเพื่อให้ฉันได้ใช้เวลากับแม่อย่างเต็มที่

ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต แม่บอกกับฉันว่า “ต้องคิดว่าเขาเป็นลูกชายแท้ๆ ไม่ใช่แค่ลูกเขย ไม่งั้นจะไม่กล้ารบกวนเขาถึงขนาดนี้”

และแม้เมื่อแม่จากไปแล้ว…วันนี้ เขาคือคนที่ได้ทำภารกิจที่เป็นเสมือนความหวังสูงสุดของชีวิตแม่ให้เป็นจริง

….

-4-

ตอนที่แม่รู้ว่าโรคร้ายได้กลับมาอีกครั้ง  ในตำแหน่งที่อาจหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม

ประโยคแรกๆ ที่แม่ถามคือ “อุมมีจะได้ไปฮัจญ์ไหม”

ตอนนั้นเราเอาชื่อแม่ไปลงบัญชีผู้แจ้งความจำนงไปฮัจญ์ไว้แล้ว  และกำหนดเดินทางอย่างคร่าวๆก็ออกมาแล้วว่าเราจะได้ไปในปีนั้น อินชาอัลลอฮ์

แม้ความหวังริบหรี่ แต่ตอนแรกเราก็ยังให้กำลังใจแม่ว่าถ้ากระบวนการรักษาจบทัน และหมออนุญาต เราก็จะพาแม่ไป

แต่ผ่านไปไม่ถึงครึ่งทาง รายละเอียดของกระบวนการรักษาก็ทำให้เราแน่ใจว่าแม่คงไม่สามารถร่วมเดินทางไปกับเราได้

แม้แจ้งถอนชื่อออกจากบัญชีฮุจญาจของปีนั้น ด้วยความหวังว่าในปีต่อๆไป จะต้องมีสักปีที่มีชื่อท่านอยู่ในเหล่าแขกของอัลลอฮ์

แต่แล้วแม่ก็จากไปก่อนกำหนดเดินทางของเราเพียง 10 วัน

กำหนดที่เคยมีแม่อยู่ในชื่อผู้ร่วมเดินทาง…สู่ดินแดนที่เป็นรักและหวังสูงสุดของแม่

….

-5-

วันหนึ่งในปีที่สองหลังการจากไปของแม่ เขาถามขึ้นมาว่า “คิดยังไง ถ้ามีคนจะให้อุมมีไปทำฮัจญ์”

ตอนแรกยังงงๆว่าเขาหมายถึงอะไร

แล้วก็ค่อยแจ่มแจ้งเมื่อรู้ว่าเขาจะกลับไปยังเมืองที่เขาหลงรักอีกครั้งในฐานะฮุจญาจ

ตามหลักการแล้ว เราสามารถทำฮัจญ์แทนคนที่เสียชีวิตไปแล้วที่ยังไม่เคยไปทำฮัจญ์ได้

โดยที่คนไปทำฮัจญ์แทนจะต้องเคยทำฮัจญ์วาญิบของตัวเองมาก่อนแล้ว

ในกรณีของบุพการี…การไปทำฮัจญ์แทนท่านนับเป็นการทำความดีต่อพ่อแม่ประการสำคัญหลังท่านเสียชีวิต

และเขาได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นั้น….ลูกชายคนใหม่ของแม่

หน้าที่ที่จะได้ทำให้ความใฝ่ฝันของแม่เป็นจริง

-6-

เรื่องราวเกี่ยวกับฮัจญ์เป็นเรื่องราวที่มหัศจรรย์มาก

ทั้งในภาพรวมของบทบัญญัติ และประสบการณ์เฉพาะบุคคลทีได้สัมผัส

เราทุกคนล้วนมี  Hajj Story ของตัวเอง

แม้กับคนที่ไม่เคยไปฮัจญ์ การรอคอยของเขา หัวใจที่ถวิลหาอย่างรุนแรง…ล้วนเป็นรายละเอียดหนึ่งใน Hajj Story ของตัวเอง

ที่จะช่วยเติมเต็มความอิ่มเอิบในวันที่เขาได้ออกเดินทางไปสุ่ดินแดนศํกดิ์สิทธิ์จริงๆ

และแม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปโดยไม่ได้ออกเดินทางจริง

หัวใจที่มีฮัจญ์จดจารอยู่ย่อมมีคุณค่า ทุกดุอาอ์ที่พร่ำขอให้ได้ไปเยี่ยมบ้านของพระองค์ย่อมไม่สูญเปล่า

เราไม่มีทางรู้เลยว่าอัลลอฮ์เตรียมอะไรไว้ให้เรา

สิ่งเดียวที่แน่ใจได้เสมอคือ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร มันก็คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา

 

เหมือนผู้หญิงคนหนึ่งที่มีฮัจญ์อยู่เต็มหัวใจ

แต่ฮัจญ์ของเธอก็เกิดขึ้นหลังจากที่เธอหมดลมหายใจ

ขออัลลอฮ์ให้ฮัจญ์ของเธอนั้นมับรูร…ผู้หญิงที่มีความใฝ่ฝันสูงสุดของชีวิตอยู่ที่มักกะฮ์

และขออัลลอฮ์ตอบแทนเขาด้วยการตอบแทนสำหรับฮัจญ์มับรูร…ผู้ชายที่หลงรักมักกะฮ์

+ แ ม่ กั บ ห นั ง สื อ +

 

-๑-

ช่วงหนึ่ง ฉันเคยเปลี่ยนนามปากกาไปเรื่อย แทบจะหนึ่งนามปากกาต่อหนึ่งชิ้นงาน

ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางใจอันเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนเกินอธิบาย

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่ครั้ง และไม่ว่าผลงานนั้นจะนำไปใช้ในสื่อที่ผิดคาดมากแค่ไหน

จะมีคนหนึ่งเสมอที่รู้ว่าเจ้าของนามปากกานั้นคือฉันเอง

ใช่แล้ว…ก็แม่นั่นแหละ จะใครอีก

แม่มักจะเริ่มต้นด้วยการเอาแหล่งที่พบชิ้นงานนั้นมาอ่านให้ฟัง แล้วถามว่า

“รู้จักเจ้าของนามปากกานี้ไหม”

แค่นั้น ก็เป็นอันว่ารู้กัน ไม่ต้องพูดอะไรอีก

 

-๒-

ภาพที่จำได้แม่นเป็นประจำทุกปีคือภาพที่เรา-ลูกๆ-เดินจับกลุ่มกันในงานสัปดาห์หนังสือตั้งแต่สมัยยังจัดที่คุรุสภา

มีแม่รั้งท้าย เพราะแม่จะแวะบูธที่สนใจนานมากเสมอ

เคยแอบคิดว่าที่จริงแม่แทบจะไม่ต้องซื้อหนังสือพวกนั้นแล้วด้วยซ้ำ เพราะอ่านไปครบทุกหน้าแล้ว

แต่ที่จริงคือแม่อ่านที่งานหนังสือ เพื่อจะเลือกมาให้ลูกอ่านที่บ้านต่างหาก

(ตอนเขียนนี่เพิ่งนึกออกว่าฉันก็ติดวิธีเลือกหนังสือมาจากแม่ (แต่เป็นเฉพาะหนังสือที่เลือกให้ลูก)

คือจะต้องอ่านเองก่อนทุกหน้า อย่างน้อยก็แบบผ่านๆ ถึงจะตัดสินใจซื้อ)

นอกจากกองหนังสือที่ได้กลับมาจากงานหนังสือในแต่ละปีแล้ว ฉันก็แทบนึกไม่ออกว่าเรายังมีกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสืออะไรอีกที่ทำร่วมกัน

แต่แค่นั้นก็เพียงพอให้หนังสือกลายเป็นส่วนประกอบหลักของบ้านเรา (แม้ว่าจะพยายามส่งออกปีละหลายๆลัง)

และเมื่อแม่ไม่ค่อยจะซื้อของเล่นอื่นให้ลูกๆสักเท่าไหร่ ทุกคนก็ไม่มีทางไหนให้หันหน้าเข้าหานอกจากชั้นหนังสือ

ในบรรดาพี่น้องเกือบโหล ฉันพบว่าทุกคนเป็นคนอ่านหนังสือ แตกต่างแนวกันบ้าง แต่ทุกคนอ่านหนังสือ

และ-ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่-หลายๆคน…ยังคงวนเวียนผูกพันอยู่กับงานหนังสือ

 

-๓-

ตอนตีพิมพ์หนังสือของตัวเองครั้งแรก

ฉันไม่ลังเลใจเลยว่าจะให้ใครเขียนคำนิยมให้

ก็อาจผิดระเบียบปฏิบัติของการเขียนคำนิยมทั่วไปอยู่สักหน่อย

ที่ผู้เขียนคำนิยมของฉันไม่ได้เป็นที่รู้จักของใครเลยนอกจากของคนเขียน

แต่ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งดีที่สุดในการตัดสินใจพิมพ์งานของตัวเองครั้งนั้น

ก็บอกได้เลยว่าคือการตัดสินใจให้แม่เขียนคำนิยมให้นั่นแหละ

(จริงๆแล้วก่อนจะมีผลงานรวมเล่ม แม่เคยแอบเอางานที่ฉันเขียนเก็บไว้ไปถ่ายเอกสารให้เพื่อนๆของแม่อ่าน

ตอนนั้นฉันรู้สึกหงุดหงิดใจพอสมควร แม่เสียใจกับความหงุดหงิดนั้น และมันก็ทำให้ฉันรู้สึกผิดจนคิดได้ว่า ควรทำเฉยๆเสียกับการเป็นแม่ยกอย่างออกหน้าออกตาของแม่ คนอื่นจะคิดอย่างไรก็เอาเถอะ ถ้าแม่รู้สึกดีก็น่าจะพอ)

 

ในคำนิยมนั้น แม่เขียนเกริ่นเริ่มต้นไว้ว่า

“ได้ถูกขอให้เขียนคำนิยม ทั้งๆที่เป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็รับทำ

อาจเป็นเพราะ…ได้มีโอกาสเห็นผู้เขียนมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก

…ได้เห็นพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และจิตวิญญาณมาตั้งแต่เล็ก

…ได้เห็นความเป็นนักอ่านตัวยงตั้งแต่เริ่มเรียนอนุบาล

..ได้เห็นแววเป็นนักเขียนตั้งแต่อยู่มัธยม”

เหตุผลทั้ง ๔ ข้อนั้น แม่ได้บอกคนอ่านไปว่า ตัวแม่เองนั่นแหละคือผู้อยู่เบื้องหลัง

 

-๔-

ตอนนี้ ฉันมีโอกาสได้ดูแลสำนักพิมพ์น่ารักอยู่ ๒ แห่ง

ทั้ง ๒ แห่ง นั้นมีแม่เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้น ทั้งในด้านกำลังใจและกำลังทรัพย์

ฉะนั้นวางใจได้ว่า เวลาที่ทำหนังสือ ฉันพยายามทำให้ดีที่สุดเสมอ เพราะนั่นคือผลงานที่ฉันทำให้แม่ด้วย (พื้นที่โฆษณา โปรดใช้วิจารญาณ 55)

ตอนที่แม่ยังอยู่ ทุกครั้งที่เริ่มทำหนังสือใหม่  ฉันจะเล่าให้แม่ฟังตลอด ถึงที่มา ความคืบหน้า และรายละเอียดต่างๆ

แม่อ่านหนังสือทุกเล่มที่ฉันทำ

ไม่ว่าจะทำในฐานะคนเขียน คนเรียบเรียง หรือบก.  และแม่ก็จะวิจารณ์ตรงๆ ว่าชอบตรงไหน ไม่ชอบตรงไหน

ช่วงที่แม่พูดไม่ได้เพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อันเป็นช่วงท้ายๆ ของชีวิตแม่ แม่ต้องสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยการเขียนใส่กระดาษ

ไม่นานมานี้ฉันรือสมุดที่แม่ใช้ในช่วงเวลานั้นขึ้นมาดูใหม่ และพบว่าในนั้นมีรายละเอียดที่แม่เขียนถามถึงหนังสือเล่มใหม่ที่ฉันกำลังทำอยู่ในตอนนั้น

บอกให้รู้ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับแม่

จริงๆ แล้วทุกเรื่องของลูกๆ ก็ดูจะเป็นเรือ่งสำคัญสำหรับแม่ไปทั้งหมดนั่นแหละ

 

-๕-

หลังจากแม่ไม่อยู่

ฉันเคยคิดว่าตัวเองคงกลับมาเขียนหนังสือใหม่อีกครั้งไม่ได้แล้ว

มีคนแนะนำว่าให้ลองเขียนเรื่องเกี่ยวกับแม่ดูสิ

เมื่อลองทำตามคำแนะนำนั้น…ปรากฏว่าพอไปได้

ทุกเรื่องที่ฉันอยากเล่าล้วนเป็นเรื่องของแม่ เกี่ยวกับแม่ วนเวียนอยู่รอบๆตัวแม่

แม่เคยบอกว่างานเขียนของฉันมีอิทธิพลต่อแม่

ที่จริงแล้วแม่ต่างหากที่มีอิทธิพลต่องานเขียนของฉัน

แม่เคยเป็นเหตุผลให้ฉันเขียนหนังสือ

แม้เมื่อไม่อยู่…แม่ก็ยังเป็นเหตุผลนั้นเสมอ

 

ขอบคุณอัลลลลอฮ์ที่ให้โลกนี้มีหนังสือ

ขอบคุณอัลลอฮ์ที่ให้โลกนี้มีแม่

 

……………………………………….

CR ภาพประกอบ | Internet

+ แ ม่ กั บ ร อ ม ฎ อ น +

 

-1-

แม่ให้ฉันเริ่มถือศีลอดครั้งแรกตอนอยู่อนุบาลสอง

ปีนั้นรอมฎอนตรงกับช่วงหน้าร้อนพอดี

พีคตรงที่แม่ไม่รู้จักการถือศีลอดครึ่งวัน

จะฝึกหรือเอาจริงมีแต่แบบเต็มวันเท่านั้น

แม่บอกว่าต้องใช้ไม้ตายทุกท่าเพื่อจะพาลูกไปให้ถึงช่วงเวลาละศีลอดในช่วงวันแรกๆ

หลังจากนั้นก็จะไม่ยากเท่าไหร่แล้ว

 

ใช้เวลาเกือบสามสิบปี

ฉันถึงรู้ว่า คนที่อดทนที่สุดในช่วงเวลานั้นไม่ใช่เด็กอนุบาลสองอย่างฉัน

แต่คือแม่

แม่ที่ต้องทนฟังลูกเล็กๆบ่นหิวและงอแง ทั้งที่ยังไม่จำเป็นอะไร

เพียงเพราะจุดยืนส่วนตัวที่หวังให้ลูกเล็กได้รับอะไรบางอย่างจากการถือศีลอด

เป็นอะไรบางอย่างที่คนเป็นแม่เชื่อว่าจะส่งผลดีงามต่อทั้งชีวิตของลูกต่อไป

 

-2-

เราต่างเติบโตขึ้นไปทุกปี

รอมฎอนของชีวิตเราก็เช่นกัน

จากเดือนแห่งความหิวของเด็กเล็กที่ความทรงจำกระพร่องกระแพร่ง

มาสู่เดือนแห่งการรวมตัวของพี่น้อง

จำได้แม่นถึงภาพพี่น้องเกือบสิบคนนั่งล้อมวงปูเสื่อละศึลอดที่สนามหน้าบ้าน

มีแม่คอยง่วนจัดการสิ่งต่างๆ และเป็นกรรมการห้ามเสียงต่อล้อต่อเถียง

ไม่กี่ปีต่อมา วงนั้นก็ค่อยเงียบลง พี่น้องหลายคนเดินทางไปศึกษาแดนไกล

บ้างไม่ไกล แต่การจราจรของเมืองหลวงก็พรากการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ตั้งแต่ตอนต้นตั้งวงไปอย่างหมดทางอุทธรณ์

มารู้ตัวอีกที รอมฎอนของเด็กๆ ที่ส่งสียงเจี๊ยวจ๊าว ก็กลายมาเป็นรอมฎอนของคนโตๆ ที่นิ่งขึ้น เงียบลง

แต่แม่ยังคงอยู่ และไม่เคยเปลี่ยน

รอมฎอนของเราจะมีแม่คอยวุ่นวายจัดการดูแล

เหมือนพวกเรายังอยู่อนุบาลสองเสมอ

 

-3-

สองปีที่แล้ว…รอมฎอนสุดท้ายของชีวิตแม่

พวกเราพยายามให้แม่เป็นเด็กอนุบาลสองแทน

เราพยายามขอให้แม่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร อยากได้อะไรให้บอกอย่างเดียว

(ซึ่งแหงล่ะ เด็กอนุบาลสองจะไม่ยอมเชื่อฟังคุณง่ายๆหรอก)

แม่ถือศีลอดได้ ๒๔ วัน ส่วนที่เหลือแม่ต้องใช้มันไปในโรงพยาบาล

ฉันจำได้แม่น เช้าวันที่ ๒๕ รอมฎอนที่หมอสั่งแอดมิท แม่ยังถือศีลอดไปโรงพยาบาล

เมื่อรู้คำสั่งหมอที่มาพร้อมการให้ยา แม่ร้องไห้และถามฉันว่า “นี่มีต้องละศีลอดเลยใช่ไหม”

แล้วแม่ก็จากไปหลังจบรอมฎอนนั้นไม่ถึงเดือน

 

-4-

เราต่างเติบโตขึ้นไปทุกปี

รอมฎอนของชีวิตเราก็เช่นกัน

ฉันเคยเฝ้ามองแม่…ผู้หญิงที่ตื่นคนแรกและหลับคนสุดท้าย

แล้วรู้สึกว่าแม่ทำให้ฉันมองเห็นรอมฎอนในมุมแห่งความเสียสละอย่างที่สุด

เสียสละเวลาละหมาด เวลาดุอาอ์ เวลาอ่านอัลกุรอานของตัวเอง

เพื่อให้คนอื่นได้ละหมาด ได้ดุอาอ์ และได้อ่านอัลกุรอาน

แม่กลายเป็นเหตุผลให้ฉันต้องบอกลาเอียอ์ติกาฟในบางปี และละหมาดให้กระชับขึ้นในบางคืน

เพื่อไม่ให้แม่ต้องเสียสละเพียงลำพัง

ทั้งหมดนั้นเมื่อมองกลับไปจากวันนี้

ฉันไม่พบอะไรเลย นอกจากความสวยงาม

 

-5-

รอมฎอนปีนี้ ที่บ้านของเรามีเด็กอนุบาลคนใหม่มาเริ่มถือศีลอด

แม้ไม่พีคเท่าเก่า เพราะแม่ของเด็กคนนี้รู้จักการฝึกเด็กด้วยศีลอดครึ่งวันแล้ว

แต่เสียงบ่นหิว ลูกอ้อน ไปจนถึงลูกล่อลูกชนต่างๆนานาซึ่งเพิ่มเลเวลไปตามระยะเวลาละศีลอดที่ใกล้เข้ามา

ก็ทำให้ฉันอดคิดถึงแม่ไม่ได้

เปล่า…ไม่ได้คิดว่า “ถ้าแม่ยังอยู่….ฉันจะถามอย่างนู้น จะขอช่วยอย่างนี้” หรอก

เพราะสำหรับฉัน…ยังไงแม่ก็ยังอยู่เสมอ

เพียงแต่คิดถึงชีวิตของแม่ คิดถึงรอมฎอนของแม่

คิดถึงชีวิตของเรา คิดถึงรอมฎอนของเรา

 

-6-

รู้สึกเหมือนกันไหมว่า…

ทั้งสองสิ่งนี้ –แม่กับรอมฎอน- เมื้อได้คิดถึง…

ก็จะไม่พบอะไรเลย นอกจากความสวยงาม

 

จดหมาย : เรื่องของคุณยายกับหลานคนโต

yam-yay

คนโต…

แม่เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าฤดูกาลชีวิตที่มากขึ้นจะพรากความชัดเจนบางอย่างในความทรงจำของเด็กหญิง ๒ ขวบไปจากลูก ก็ยังมีตัวอักษรที่จะช่วยจารบางรูปรอยของความทรงจำนั้นให้ชัดเจนขึ้น อินชาอัลลอฮ์

เป็นความทรงจำที่ –เชื่อแม่เถอะว่า- วันหนึ่ง เมื่อลูกมองย้อนอนกลับมา มันจะเป็นไออุ่นบางเบาที่มีส่วนสร้างความหนักแน่นให้ก้าวเดินของลูก…ความทรงจำเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ลูกมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะภูมิใจ – คุณยาย!

ไม่หรอกลูก คุณยายของลูกไม่ใช่ผู้หญิงแบบนางในวรรณคดี สตรีตัวอย่างในทำเนียบหนังสือขลิบทอง หรือแม้กระทั่งหญิงทรหดในรายการวงเวียนชีวิต ไม่เลย คุณยายของลูกเป็นผู้หญิงธรรมดาๆคนหนึ่งที่ใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับก้นครัวและกองเสื้อผ้าของคนในบ้าน เถอะ ถึงแม้คุณยายจะมีใบปริญญาจากคณะเด่นในมหาวิทยาลัยดังคลุกฝุ่นอยู่ในตู้ที่บ้าน แต่มันก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายเว้นแต่ตอนกรอกเอกสารบางชิ้นที่ไม่ได้สำคัญอะไรนัก

แต่ที่ลูกไม่อาจไม่ภูมิใจคือคุณยายเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ที่พยายามทุกทางให้ลูกหลานใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ ที่แม่บอกว่า “เป็นบ่าว” คนโตเข้าใจใช่ไหมลูก…หมายถึงว่าในสถานะนี้ เราทุกคนมีความอ่อนแอ มีความบกพร่อง มีความผิดพลาดร้อยแปด แต่ความปรารถนาที่จะเป็นคนดีและอยากให้คนอื่นๆ-โดยเฉพาะคนที่อยู่ในอมานะฮ์รับผิดชอบของตน-เป็นคนดี จะผลักดันให้บ่าวบางคนพยายามเต็มความสามารถเพื่อบรรลุสู่ความปรารถนานั้น และคุณยายมีสิ่งนี้ มีความพยายามอันแน่วแน่อันนี้

ต่อมา ความชัดเจนบนความสามัญเหลือแสนของคุณยายประการนี้เอง ที่กลายเป็นความชัดเจนในการเลี้ยงลูกของแม่ นั่นคือทำอย่างไรก็ได้ ให้ลูกผูกพันกับอัลลอฮ์มากที่สุด เรื่องอื่นคุยกันได้ ผ่อนหนัก-เบาได้ แต่ความผูกพันที่ชีวิตหนึ่งจะมีต่อผู้อภิบาลของเขาเป็นอะไรที่ต้องจัดเต็ม ใช่แล้วล่ะลูก เพราะมันคือข้อผูกพันเดียวที่จะยึดชีวิตเราให้มั่นคงไปได้ตลอดกาล

“อิตตะกุลลอฮ์นะลูก” นี่คือคำติดปากของคุณยายที่ลูกเองก็คงเคยได้ยิน

คุณยายในความทรงจำของเด็ก ๒ ขวบดูจะมีไม่กี่ภาพ หนึ่งในนั้นก็คือภาพคุณยายตัดเล็บให้ลูก คนโตยังพูดถึงบ่อยๆเมื่อถูกตัดเล็บจากใครคนอื่น ว่า “คุณยายก็เคยตัดให้” มันเป็นงานง่ายๆ ที่ระบายภาพตัวตนของคุณยายได้ชัดเจน

คนโต…

ก่อนหน้านี้ แม่เคยมีแนวคิดเป๊ะปังมากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก แต่หลังจากมีลูกจริงๆ แม่ขอบคุณอัลลอฮ์เสมอ ที่ทำให้แม่คิดได้ว่า นอกจากความพอใจของอัลลอฮ์แล้ว การเลี้ยงลูกของแม่จะต้องอยู่บนความพอใจของปู่ย่าตายายลูกด้วย ตราบใดที่ความพอใจประการหลัง ไม่ได้ขัดกับความพอใจประการแรกซึ่งสำคัญสูงสุดในการมีชีวิตอยู่

คนโตรู้ไหม ตอนที่พ่อกับแม่รู้ว่าอัลลอฮ์ส่งชีวิตน้อยๆ ของลูกมาแล้ว  สิ่งแรกๆที่พ่อแม่ทำคือเชิญปู่ย่าตายายของลูกมาพร้อมหน้ากัน แล้วแจ้งให้ท่านทั้ง ๔ ทราบข่าวดีนี้พร้อมๆกัน เราไม่ยินยอมที่จะให้ใครรู้เรื่องการมาถึงของลูกก่อนพ่อแม่ของเรา และเราต้องการให้ท่านทั้งหมดนี้ได้รับรู้เรื่องนี้ในบรรยากาศที่ยืนยันย้ำว่า “เราคือครอบครัวเดียวกัน”

ลูกจึงเกิดมาบนสิ่งนี้ไงล่ะคนโต สิ่งที่เรียกว่า “ครอบครัวเดียวกัน” ลูกเป็นหลานคนโตของทั้ง ๒ บ้านที่ใครๆ ต่างกลุ้มรุมจนบางคนทักว่าระวังจะเสียคน แต่แม่ไม่กลัวแบบนั้น…ไม่กลัวเลย (แม้เราต่างขอดุอาอ์ให้อัลลอฮ์คุ้มครองเราให้พ้นจากสภาพไม่ดีทุกประการเสมอ) เพราะแม่ “ไว้ใจ” ในวุฒิภาวะและวิจารณญาณของปู่ย่าตายายของลูก

ไม่หรอกลูก เราจะพยายามไม่ให้ทุกสิ่งหลุดไปในขอบเขตที่เรียกว่า “สุดโต่ง” เพราะ “ความสมดุล” (ณ ที่นี้แม่ขอใช้คำนี้เป็นคำแปลของ “วะสะฏียะฮ์”) นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากมายต่อการใช้ชีวิตรวมถึงการเลี้ยงลูก ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ปู่ย่าตายายทำเราจะไม่มีการคัดค้านหรือเห็นต่าง แต่แม่หมายถึงมุมมองแรกเริ่มที่ใช้เป็นฐานในการพิจารณา สำหรับแม่แล้ว มันเกือบจะจำเป็นที่เราต้องให้เกียรติในวิจารณญาณของพ่อแม่เรา เริ่มมองการกระทำของท่านจากจุดที่ว่าพ่อแม่เรามีวุฒิภาวะที่น่าเคารพเชื่อฟัง อย่าเริ่มมองด้วยกับความระแวงว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ได้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่หรือทฤษฎีการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องเหมือนคนรุ่นนี้ ดีแต่ยึดตามที่ตัวเองเลี้ยงมาเป็นหลัก ไม่เอานะลูก อย่าคิดแบบนี้

อย่าเริ่มคิดโดยวางพ่อแม่ไว้ในฐานะ “อุปสรรค” ของการเลี้ยงดูลูกของเรา แต่จงให้ท่านอยู่ในฐานะ “ผู้สนับสนุนอย่างดีเยี่ยม”…แล้วเราจะได้ตามที่คิด อินชาอัลลอฮฺ

นอกจากวิจารณญานของคุณยายที่แม่ให้เกียรติเสมอ ไม่เคยคิดว่คุณยายคิดได้น้อยกว่าแม่หรือน้อยกว่าตำราเลี้ยงเด็กเล่มไหนแล้ว ก็ยังมีอีกสิ่งของคุณยายที่แม่ยอมใจ และไม่อาจทำอะไรที่กั้นคุณยายออกจากลูกได้เลย นั่นคือ “ความรัก”

คุณยายเริ่มป่วยตอนคนโตอายุ ๑ ขวบเต็มพอดี เป็นวัยแห่งการเริ่มต้นที่แม่สามารถให้อะไรลูกได้เต็มที่ แต่แม่ก็เลือกที่จะพาลูกไปโต๋เต๋อยู่ในห้องพิเศษของโรงพยาบาลที่คุณยายรักษาตัวอยู่ (หลังปรึกษากับคุณหมอเจ้าของไข้และได้รับคำยืนยันว่าไม่มีปัญหา) หรือไม่ก็ใช้เวลาหลายๆวันในหนึ่งสัปดาห์ไปกับการงัวเงียขึ้นจากเตียงในตอนเช้าและหัวซุกหัวซุนกลับเข้าบ้านยามมืด เพื่อไปใช้เวลาทั้งวันกับคุณยาย แม่ก็จำไม่ได้แม่นนัก ว่าช่วงเวลาแบบนั้นแม่มีความรู้สึกอย่างไร รู้แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ กระทั่งวันนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป แม่ก็แน่ใจเหลือเกินว่าช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต

ในวันหนึ่งของการเข้าโรงพยาบาลรอบสุดท้าย…วันท้ายๆของชีวิตคุณยาย ตอนนั้นคุณยายอาการเข้าขั้นวิกฤติอยู่ในห้องไอซียู พูดคุยไม่ได้เพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หากต้องการสื่อสารอะไรต้องเขียนใส่กระดาษ แต่ก็เขียนเฉพาะที่จำเป็นและอย่างค่อนข้างยากลำบาก เพราะหมอต้องใส่ถุงมือพลาสติกให้คุณยายเพื่อป้องกันไม่ให้คุณยายดึงท่อช่วยหายใจออก เวลาจะเขียนทีต้องคอยเอาถุงมือที่ว่านี้ออกที

ในชวงเวลาวิกฤติแบบนั้น คุณยายเกิดรู้มา (จากทางไหนแม่ก็จำไม่ได้) ว่าลูก –ซึ่งไม่สามารถเข้าเยี่ยมในห้องไอซียูได้อยู่แล้ว-มีอาการไข้หวัดเล็กน้อย เมื่อเห็นหน้าแม่ คุณยายก็ถอดถุงมือ แล้วรวบรวมกำลังเขียนถามแม่ว่า….ลูกเป็นอย่างไรบ้าง

คนโตนึกออกไหม คนอยู่ห้องไอซียู อาการสาหัสร่อแร่ กลับถามถึงการเป็นหวัดของเด็กคนนึงที่วิ่งเล่นอยู่เป็นปกติ

แม่จะปล่อยปละความรักชนิดนี้…ความรักที่ขนาดและมวลของมันไม่อาจชั่งตวงวัดได้อย่างนี้…ไปได้อย่างไรล่ะลูก?

คนโต…

ทุกวันนี้ โลกหมุนเร็วเหลือเกิน ยุคสมัยของลูกจะต่างกับยุคสมัยของแม่ยิ่งกว่าที่ยุคของแม่กับของคุณยายต่างกันเสียอีก

ในความรวดเร็วของวันเวลาที่เก็บงำความซับซ้อนไว้มากมายนั้น แม่เชื่อว่าคงจะมีบ้าง…บางครั้งบางหน ที่ลูกเห็นรูปเงาเรือนลางของใครบางคนในความทรงจำหม่นจาง ใครคนที่มาพร้อมกับรอยยิ้มใจดีและที่ตัดเล็บ

ลองเงี่ยหูฟังดีๆ ลูกจะได้ยินว่า ใครคนนั้นกระซิบพึมพำแต่หนักแน่นยิ่งนัก

“อิตตะกุลลอฮ์นะลูก”!

– ผู้ ห ญิ ง ค น นั้ น –

2a3a199cea6429fd4d99b0904f6d3f96-d3jri7d

(บทความนี้เคยเขียนขึ้นเพื่อใช้ในโปรเจคต์หนังสือให้กำลังใจบางอย่าง (ซึ่งสุดท้ายโปรเจคต์นั้นล้มไป) ตั้งแต่กลางปี 2013 – 2 ปีก่อนที่ “ผู้หญิงคนนั้น” จะล้มป่วยรอบใหม่และเดินทางจากไปพร้อมโลกใบที่ฉันคุ้นเคย –เพิ่งค้นเจอ)

…………….

ในชีวิตมนุษย์ทุกคนมีผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ข้างหลัง

เธอเป็นใครคนที่สนิทลึกซึ้งกับเราที่สุด อย่างน้อยก็ในระยะแรกเริ่มของชีวิตอันเป็นระยะที่เราอาศัยอยู่ในตัวเธอ ลองคิดดูเถอะว่ามีมนุษย์คนไหนอีกที่เราลึกซึ้งด้วยถึงขั้นเคยเข้าไปอยู่ในตัวเขา ไม่ต้องนับว่าเธอผู้นั้นยังมีบทบาทในอีกสารพัดเรื่องราวของชีวิตเรา ซึ่งโดยมากก็ล้วนแลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยสาหัสของเธอเอง

ฉันก็มีผู้หญิงคนที่ว่ากับเขาเหมือนกัน เธอเป็นที่มา ที่ไป และที่มีส่วนร่วมในหลากบทหลายตอนของชีวิต เรียกว่าหากจะให้เล่าประสบการณ์ประทับใจที่เกี่ยวข้องกับเธอ ก็คงต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการเล่า เพราะนั่นคือความยาวนานของบทบาทที่เธอมี ถึงอย่างนั้น ฉันก็ยังอยากจะพยายามเล่าบางเรื่องเกี่ยวกับเธอ ค่าที่มันให้บทเรียนรู้แก่ชีวิตมากมายนัก

ผู้หญิงคนนั้นของฉันเคยเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอันเป็นที่รับรู้กันว่าสามารถคร่าชีวิตคนป่วยได้โดยไม่ยากเย็น ตอนนั้นฉันเป็นเพียงเด็กมัธยมต้นขณะที่น้องชายคนเล็กเพิ่งหย่านม แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ก็ยังจำแม่นว่าในสภาพที่ดูเหมือนกำลังใจของเธอดียิ่งนั้น เธอเคยร้องไห้แล้วพูดว่า หากจะมีเหตุผลใดทำให้นึกอยากให้กำหนดการกลับไปพบพระเจ้าของเธอเลื่อนไปก่อน ก็คงเป็นความห่วงใยที่มีต่อลูกๆ…เธอห่วงว่าพวกเราจะอยู่กันอย่างไรหลังจากเธอ ใครจะทำกับข้าวกับปลา สอนการบ้าน และคอยดูและตักเตือนพวกเราให้อยู่ในแนวทาง

ในสภาพที่ความเป็นความตายอยู่ไม่ห่างตัว ความกังวลของเธอยังตกหนักอยู่แค่ที่พวกเรา…ลูกๆ

เรื่องทำนองนี้ยังปรากฏอีกหลายครั้งหลังจากที่อัลลอฮฺช่วยให้ผู้หญิงคนนั้นพ้นจากอาการในระดับขั้นอันตราย แต่ด้วยลักษณะโรคภัยที่มีความเรื้อรังและส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้เธอมีอาการอ่อนเพลียอยู่เสมอ ทว่าหลายต่อหลายครั้งขณะที่กำลังจะหลับตาลงไปด้วยความเหนื่ออ่อนและอาการไม่สบาย เธอก็มักจะสั่งวนเวียนอยู่แต่ว่า…อย่าลืมดูข้าวเย็นว่าพอทานกันทุกคนไหม…ช่วยดูสอนการบ้านน้องด้วย…อยู่กันดีๆ นะอย่าทะเลาะกัน และอีกสารพัดอย่างที่ล้วนเป็นเรื่องจุกจิกในชีวิตลูก ทั้งที่ตัวคนพูดเองกำลังทุกข์ทรมานกับอาการไม่สบายที่ไม่เล็กเลย

ความมหัศจรรย์ในรักที่ผู้หญิงคนนั้นมีต่อชีวิตที่ก่อความลำบากให้เธอนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์กลายเป็นกำลังใจสำคัญในหลากหลายขั้นตอนสาหัสของชีวิต เมื่อเรารู้ว่าไม่ว่าเราจะทำพลาดไปสักแค่ไหน และไม่ว่าคนอื่นรอบข้างจะทำร้ายเราอย่างไร ก็จะยังมีใครคนหนึ่งเสมอที่พร้อมจะอยู่ข้างเรา ให้อภัย และกางปีกโอบป้องเหมือนที่แม่นกทำต่อลูกของมันเมื่อภัยมา การตระหนักในข้อนี้ไม่เพียงเสริมกำลังใจให้ชีวิตแต่ยังปกป้องเราจากการทำสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะทำให้ผู้หญิงคนนั้นเสียใจ มันไม่สมควรเอาเลยจริงๆใช่ไหมล่ะ ที่เราจะทำร้ายหัวใจใครคนที่ไม่เคยแม้แต่จะคิดทำร้ายเรา

กระทั่งเมื่อได้มีโอกาสเป็นผู้หญิงคนนั้นให้อีกบางชีวิต ฉันยิ่งตระหนักในความมหัศจรรย์ล้ำลึกของรักนั้น แต่ไม่มากไปกว่าความล้ำลึกเมื่อได้พิจารณาหะดีษที่ว่า “อัลลอฮฺนั้นเมตตาต่อบ่าวของพระองค์ยิ่งกว่าที่คนเป็นแม่เมตตาต่อลูกของเธอ”

เราทุกคนมีแม่…ผู้หญิงคนนั้น ประจักษ์แจ้งในความรักหวังดีสุดแสนที่เธอมีต่อเรา ยิ่งใครทีได้มีโอกาสเป็นแม่ยิ่งแจ่มกว่าแจ่มแก่ใจว่าความรักความเมตตาที่เรามีต่อลูกนั้นมันมากมายแค่ไหน หะดีษบทนี้จึงเป็นการเปรียบเปรยความเมตตาของอัลลอฮฺที่ลึกยิ่ง ซึ้งยิ่ง และชวนน้ำตาหยดยิ่ง

มากกว่าที่เรามั่นใจว่าแม่จะคอยช่วยเรา อภัยให้เรายามผิดพลั้ง และทำทุกอย่างไปด้วยความหวังดีต่อเรา เราต้องมั่นใจว่าอัลลอฮฺเป็นขั้นกว่า พระองค์จะคอยช่วยเหลือ ให้อภัย และไม่เคยสั่งใช้อะไรนอกจากสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีแสนดีแก่ตัวเราเอง

วันนี้…หากเราหมดกำลังใจ เผชิญบททดสอบ หรือผจญความสาหัสใดก็ตามในชีวิต ไม่มีอะไรต้องหมดหวัง…ตราบที่เราเป็นผู้ศรัทธา  เรายังมีมนุษยค์คนหนึ่งคอยยืนอยู่ข้างหลังและมีผู้สร้างมนุษย์ทุกคนคอยเป็นผู้ช่วยเหลือ

ขอบคุณเธอ….ผู้หญิงคนนั้น

และขอบคุณพระองค์…พระเจ้าของผู้หญิงคนนั้น

……………………………

– อ ย่ า บ อ ก ใ ค ร –

floralic_by_pamba-d577cdg

إِنَّمَا أَشْكُو بَثِّي وَحُزْنِي إِلَى اللَّهِ

“แท้จริงฉันขอร้องเรียนความโศกเศร้าของฉันและความทุกข์ระทมของฉันต่ออัลลอฮ์เท่านั้น”

(ยูซุฟ 12 : 86)


แปลกมากที่ประโยคไร้สิ้นซึ่งการฟูมฟายนี้ของยะอ์กูบ อะลัยฮิสลาม กลับทำให้เรามองเห็นภาพความทุกข์สาหัสของท่านได้ชัดเจนยิ่งกว่าคำบ่นพร่ำรำพันใด

เป็นความสาหัสอย่างยิ่ง ที่มาพร้อมกับความเด็ดเดี่ยวอย่างแรง

คนที่กำลังเผชิญเรื่องใหญ่โตที่สุดอาจไม่ใช่คนที่ใครทั้งโลกรู้ว่าเขากำลังแย่ แต่คือคนที่ไม่มีใครในโลกรู้เลยว่าเขากำลังสาหัส…นอกจากเจ้าของชีวิตเขา


ประทับใจในตัวนบียะอ์กูบก็ตรงนี้ ภาพของท่านที่ปรากฏในซูเราะฮ์ยูซุฟเป็นภาพของพ่อที่แสนอ่อนโยน ใจดี และรักลูกสุดใจ แต่คำพูดแต่ละคำของท่านบ่งบอกความผูกพันขั้นสูงสุดที่บ่าวมีต่อผู้สร้าง เป็นคนอ่อนโยนที่เด็ดเดี่ยว เป็นคนเปล่าเปลี่ยวที่ไม่เคยอยู่ลำพัง


“ฉันขอร้องเรียนความโศกเศร้าของฉันและความทุกข์ระทมของฉันต่ออัลลอฮ์เท่านั้น”

บนโลกวันนี้ ที่ใครๆก็สามารถระบายสารพัดความรู้สึกให้ทุกคนบนโลกรับรู้ชั่วปลายนิ้ว

คงน่าเสียดายมาก หากมันจะทำให้เราลืมไปว่า…ที่จริงแล้ว ช่อองทางระบายความรู้สึกที่ดีที่สุด  สว่างไสว และอุ่นละไม ก็คือการบอกกล่าว ร้องทุกข์ ฟ้องระบาย..กับผู้ที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา และเพียงคำสั่งว่าจงเป็นของพระองค์ ก็ทำให้ทุกอย่างเป็นขึ้นมาได้

มันเป็นความรู้สึกแสนดี ที่เราจะได้มีบางเรื่องส่วนตัว บางชนิดความเศร้า หรือบางเงาของความกังวล ที่ไม่มีใครรู้…นอกจากอัลลอฮฺ

มีความลับ…ระหว่างเรากับอัลลอฮ์…บ้าง

ความลับ…ที่ไม่มีใครมีสิทธิ์รู้…นอกจากอัลลอฮ์


วันนี้…หากมีเรื่องใหญ่ๆ ที่ถ่วงหนักในใจ ไม่รู้จะอธิบายให้ใครฟัง ไม่รู้จะระบายออกยังไง
ลองใช้วิธีของนบียะอ์กูบดูดีไหม

วางเฉย ยิ้มเก๋ มองผ่านโลกทั้งใบ บอกตัวเองแค่ว่า…


“ฉันจะร้องเรียนความโศกเศร้าของฉันและความทุกข์ระทมของฉันต่ออัลลอฮ์เท่านั้น”


ลองดูเถอะชีวิต…สักเรื่องยิ่งใหญ่…ที่ได้ผ่านเข้ามา แล้วอย่าบอกใคร…

นอกจากอัลลอฮฺ!

– ง า น ข อ ง ผู้ ห ญิ ง –

muslimah_in_fairy_tale_13_by_muslimahbeauty-d4ceqe8


“ขอฝากถึงพี่น้องมุสลิมะฮฺที่ยังไม่มีครอบครัวว่า ให้ขวนขวายทำงานศาสนาอย่างเต็มความสามารถเสียแต่ตอนนี้ เพราะต่อไปเมื่อมีครอบครัว…โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเจ้าตัวน้อยแล้ว คุณจะไม่มีเวลาทำงานอะไรได้อีกเลย”


ประโยคนะซีฮะฮฺเช่นนี้หรือทำนองนี้ฟังดูคุ้นหูยิ่ง อาจบางทีฉันเองก็คงเคยเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ผลิตและเผยแพร่มัน ทว่าเมื่อหันกลับมามองใหม่ในวันนี้ ขณะชีวิตก้าวกระเถิบขึ้นไปอีกขั้น บริบทและบทบาทของตัวเองก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและกำหนดการณ์ของผู้ทรงกำหนด ฉันกลับรู้สึกกังขาในบางส่วนของประโยคเตือนใจดังกล่าว


คงถูกและไม่ขอเถียงสำหรับคำเกริ่นนำในตอนต้นที่ส่งตรงไปถึงชาวคนโสดให้เร่งมือทำงาน (นัยหนึ่งก็คืออย่าหมกหมุ่นกับเรื่องสละโสดมากเกินไปนัก ซึ่งเฉพาะส่วนความหมายโดยนัยนี้คงจะต้องใช้เวลาอภิปรายถึงนิยาม ขอบเขตและเนื้อหาอื่นๆ ในลำดับต่อๆ ไป) ใช่แหละที่ขณะยังไม่มีครอบครัวนั้น มันคือช่วงชีวิตที่อิสระที่สุดแล้วสำหรับผู้หญิง ถ้าไม่ขวนขวายทำงาน หาความรู้ และอะไรต่อมิอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมให้เต็มที่ในช่วงนี้ คงหวังยากที่จะไปเต็มที่กับงานการเคลื่อนไหวได้ในช่วงชีวิตอื่น


แต่เหตุผลมิใช่เพราะว่าพอคุณแต่งงานมีครอบครัวแล้ว คุณจะหมดโอกาสทำงานศาสนา นี่น่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิดและบั่นทอนกำลังใจของมุสลิมะฮฺผู้มีครอบครัวแล้วอย่างยิ่ง ทั้งที่จริงแล้วพวกเธอเหล่านั้นกำลังทำงานศาสนาอยู่ทุกวัน ใครกันบอกว่าภารกิจการการสร้างครอบครัว ปรนนิบัติสามี ดูแลลูกน้อยและบ้านช่องห้องหับ ไม่ใช่งานศาสนา?


เราจำเป็นต้องมอง “งานศาสนา” ให้กว้างและครอบคลุมกว่าภาพการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวตามสถานที่ต่างๆ การจับปากกาหรือไมโครโฟนเพื่อส่งสารต่อไปถึงผู้คนนับสิบนับร้อย รวมถึงการนั่งจิ้มอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเพื่อเผยแผ่เนื้องานเกี่ยวกับอิสลามให้กระจายไปในโลกไซเบอร์อันไร้พรมแดน แน่นอนว่าเหล่านี้คือการทำงานเพื่ออิสลาม แต่ไม่ใช่แค่นี้ ลูกสาวที่คอยปรนนิบัติรับใช้พ่อแม่แก่เฒ่า ภรรยาที่รักษาดูแลตัวเองเพื่อเตรียมต้อนรับสามีนักทำงานกลับบ้านด้วยความรมย์รื่นชื่นใส และแม่ที่วิ่งวุ่นเข้าออกครัวทั้งวันเพื่อดูแลข้าวปลาให้ลูกๆ และสมาชิกในครอบครัว มุสลิมะฮฺเหล่านี้คือนักทำงานศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ว่าจะไม่มีใครในสังคมรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของพวกเธอเลยก็ตาม


เป็นไปได้มากว่าประโยคนะซีฮะฮฺต้นบทความไม่ได้จงใจละเลยหน้าที่ของพวกเธอเหล่านี้ ทว่าได้หมายรวมงานพื้นฐานของชีวิตผู้หญิงเช่นที่กล่าวมาไว้ในเรื่องเบื้องต้นที่ทุกคนควรตระหนักรู้กันอยู่แล้ว แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ผู้รับสารที่ยังโสดจะเข้าใจไปว่าการแต่งงานคือการปิดประตูการทำงานศาสนา ขณะเดียวกันผู้รับสารที่พ้นสถานะโสดไปแล้วก็ลืมเพ่งมองงานอันแสนหนักเหนื่อยของตัวเองว่ามันมีคุณค่าต่อสังคมแค่ไหน พาลให้รู้สึกท้อแท้หมดกำลังพังพาบอยู่ท้ายครัวว่าทำไมฉันไม่มีโอกาสทำงานรับใช้ศาสนาของอัลลอฮฺเหมือนใครเขาบ้างนะ


การที่มุสลิมีนนักทำงานได้รู้สึกสงบสุขและปลอดพ้นจากความหน่ายเหนื่อยทั้งปวงเมื่อกลับบ้าน รวมถึงการที่ชีวิตน้อยของบ่าวตัวจิ๋วจะได้เติบโตเรียนรู้อิสลาม มันไม่ได้เป็นการช่วยงานศาสนาของ อัลลอฮฺที่จะส่งผลยิ่งใหญ่ต่อสังคมโดยรวมหรอกหรือ?


กลับกัน ก็ไม่ใช่ว่าเหล่ามุสลิมะฮฺผู้สวมหมวกแม่บ้านเต็มตัวจะวางมือจากงานเคลื่อนไหวลักษณะอื่นอย่างสิ้นเชิง ใครมอบโอกาสช่วยงานศาสนารูปแบบอื่นๆ ก็ปฏิเสธเสียหมดทั้งที่มีกำลังความสามารถจะทำได้ นี่ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะหากเราจัดการงานพื้นฐานของชีวิตซึ่งก็คืองานในบ้านได้เรียบร้อยแล้ว พ้นไปจากนั้นก็คือกำไรที่ใครเก็บได้เยอะก็ร่ำรวย มันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการสร้างสมดุลและจัดสรรปัจจัยต่างๆ ของชีวิตให้ลงตัว ภายใต้การขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺและหวังแน่วแน่ในรางวัลจากพระองค์


ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่บ้านทั้งหลาย เชื่อเถอะค่ะว่าทุกหยดเงื่อที่หยาดรดพื้นบ้านพื้นครัวไปนั้นไม่สูญเปล่าแน่นอนตราบที่มันเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ และก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนโสดในการทำงานใดใดก็ตามที่มีพระพักตร์ของอัลลอฮฺเป็นเป้าหมาย แต่อย่างไรก็อย่าลืมว่างานแรกๆ ของชีวิตมุสลิมะฮฺน่ะไม่ได้อยู่ที่ไหนนอกจากใต้ความอบอุ่นของหลังคาบ้าน ฉะนั้นจะออกไปทำงานทีไหนๆ และในรูปแบบใดๆ ก็อย่าลืมเวทีแรกที่ยังรอให้เราวาดลวดลาย


…เวทีที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่แหละคือการทำงานศาสนาของมุสลิมะฮฺ!

– อุ ม มี –

657a8901bd0eba1218842f905b2673c1-dmjrfn


ฉันมีอุมมีกับเขาอยู่คนหนึ่ง
อุมมีของฉันอาจเป็นแม่บ้านธรรมดาในสายตาใครๆ
เป็นสตรีวัยเกินกลางคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บตามประสา
แถมยังมีปัญหาด้านการฟังเข้าขั้นรุนแรงด้วย
แต่รู้ไหม ในสายตาของลูกๆ…
อุมมีช่างแสนมหัศจรรย์


อุมมีเรียนจบจากคณะชั้นดีของมหาวิทยาลัยชื่อดัง
แต่ไม่เคยไปทำงานบนตึกสูงเหมือนเพื่อนๆร่วมคณะ
ที่ทำงานของอุมมีอยู่ในบ้านสองชั้นเตี้ยๆ
แต่อุมมีก็ได้ใช้วิชาความรู้สอนการบ้านลูกทั้งเก้าคนตลอดหลายสิบปี…นานยิ่งกว่าครูอาชีพบางคนเสียอีก


ใช่แล้ว อุมมีมีลูกเก้าคน
มันอาจไม่ใช่เรื่องแปลก
ถ้าคุณไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองหลวงที่คนร่วมสมัยเดียวกันพร้อมจะทำตาโตเป็นไข่แม่ห่าน
…เพียงได้ยินว่าคุณมีลูกสักครึ่งหนึ่งของที่อุมมีมี
แต่อุมมีหาสนสายตาแม่ห่านไม่
นับๆแล้ว เท่ากับว่าในชีวิตนี้อุมมีต้องเดินไปไหนมาไหนโดยแบกสิ่งมีชีวิตเล็กๆไว้ในท้องเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๘๑ เดือน


ลองคิดดูสิ ผู้หญิงคนหนึ่งต้องอุ้มท้องเกือบ ๗ ปี
หรือเท่ากับใช้เวลาราว ๑ ใน ๗ ของชีวิตไปกับการตั้งครรภ์
คุณอาจไม่เข้าใจความมหัศจรรย์นี้ดีเท่าที่ควร ตราบที่ไม่เคยมีประสบการณ์อุ้มท้องด้วยตัวเองแม้สักนาที
แต่ถ้าคุณเคยมีประสบการณ์นั้น
คุณย่อมไม่อาจไม่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “มหัศจรรย์”


มหาบริสุทธิ์แด่ผู้ทรงให้มนุษย์ทุกคนเกิดมาจากท้องของมนุษย์อีกคน
คิดดูสิ…เราทุกคนเคยอาศัยอยู่ในร่างกายของใครอีกคนเป็นเวลาตั้ง ๙ เดือน
ถ่วงน้ำหนักหน้าท้องของเขาให้ไปไหนไม่คล่องตัว
แย่งข้าวปลาอาหารที่เขากิน
เคลื่อนไหวตัวให้เขาปวดเมื่อย
แถมยังดิ้นถีบเขาอยู่เรื่อย
ที่แปลกก็คือ…ทั้งที่ทำกับเขาแบบนั้น
สิ่งที่เขาให้กลับคืนมาไม่ใช่อะไรอื่นนออกจากรอยยิ้มเป็นสุข
นี่เป็นรูปแบบความรักที่ไม่มีและไม่ต้องการคำอธิบาย
ยิ่งใหญ่ อบอุ่น และสุดแสนจะลึกซึ้ง


จึงทุกคนที่อยากจะเป็น “อุมมี”
สิ่งแรกๆ ที่ต้องเตรียมอาจไม่ใช่แค่ความใส่ใจต่อชีวิตใหม่ที่จะมาเรียกเราว่า “อุมมี”
แต่คือความใส่ใจต่อชีวิตเก่า ๆ แก่ ๆ ชีวิตหนึ่งที่เราเรียกเขาว่า “อุมมี”
เชื่อเถอะว่าสิ่งต่างๆที่เราทำไว้กับ “อุมมี” ของเรา
จะกลับมาปรากฏชัดในสิ่งต่างๆที่เราถูกกระทำจากคนที่เรียกเราว่า “อุมมี”


และจึงทุกคนที่กำลังจะเป็น “อุมมี”
ขณะตระเตรียมสารพันสิ่งเพื่อชีวิตน้อย ๆ ที่อยู่ในครรภ์ อย่าลืมนึกถึงครรภ์ที่เราเคยอยู่
ขณะมองไปข้างหน้าพร้อมด้วยความวาดหวังหลากหลายต่อชีวิตที่กำลังจะมาให้เราอบรมดูแล
อย่าลืมให้พื้นที่แก่ชีวิตที่เคยอบรมดูแลเราได้ร่วมในความวาดหวังนั้นด้วย


เชื่อเถอะว่า…ในวันที่เราเป็น “อุมมี”
ไม่มีใครจะมีความสุขมากไปกว่า “อุมมี” ของเรา

คนรักของรอมฎอน

5d6442a5742353895fd062bd4fa45e9d


ใครๆก็อาจ “พูด” ได้ว่ารักรอมฎอน
แต่คนรักของรอมฎอนเท่านั้นที่จะ “แสดง” ให้เห็น


ใครๆก็อาจจะ “อดอาหาร” ได้
แต่คนรักของรอมฎอนเท่านั้นที่จะ “ถือศิลอด” ได้


ใครๆก็อาจ “เข้าหา” อัลกุรอานได้
แต่คนรักของรอมฎอนเท่านั้นที่จะ “เข้าถึง” อัลกุรอานได้


ใครๆก็อาจปลุก “ร่างกาย” ขึ่นมาละหมาดยามค่ำคืนได้
แต่คนรักของรอมฎอนเท่านั้นที่จะปลุก “หัวใจ” ขึ้นมาละหมาดยามค่ำคืนได้


ใครๆก็อาจทำให้ทุกวันในรอมฎอนของเขาเป็นวันที่ดีได้
แต่คนรักของรอมฎอนเท่านั้นที่จะทำให้ทุกวันในชีวิตของเขาเป็นรอมฎอนได้ !

– มะ ลิ ข อ ง ชี วิ ต –

jasmine


(บทความนี้ได้รับแรงสะเทือนใจ เอ้ย บันดาลใจมาจากบทความ “มะระของชีวิต” ในหนังสือรวมบทความ อย่าท้อถอยสร้อยเศร้าเลยเจ้าเอย ฉบับพิมพ์ครั้งที่๑ มกราคม ๒๕๕๕)

…………………..


นอกจากเป็นตัวแทนของวันแม่แห่งบางชาติ และตัวตายในหมู่พวงมาลัยตามสี่แยกแล้ว ดอกมะลิยังเป็นที่คุ้นเคยของผองเราชนิดที่หากให้ช่วยกันนึกชื่อดอกไม้ที่รู้จักมาสักห้าชนิด เชื่อว่าเจ้าดอกขาวๆ หอมหนาวๆ ที่ชื่อว่ามะลิจะต้องติดท็อปลิสต์ของใครหลายคนเป็นแน่


แต่ทั้งที่คุ้นกับชื่อมะลิมากถึงแค่นั้น และก็ยอมรับในการเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงบางสิ่งที่ละมุนละไมและแสนบริสุทธิ์ของดอกไม้ชนิดนี้ แต่สักกี่คนกันที่ยังมีมะลิอยู่ในชีวิต

สักกี่คนที่มีมะลิอยู่ในสวนเล็กๆ หลังบ้าน เพื่อจะสูดหายใจเฮือกโตเอากลิ่นหอมเย็นเข้าไปเซ่นปอดเขรอะควันรถ


สักกี่คนที่ยังดื่มน้ำฉ่ำจากขันเงินที่มีดอกมะลิเล็กๆ ลอยหน้ายิ้มเฉ่งอยู่เหนือผิวน้ำส่งความหอมหวนอวลไอไปทั้งจมูกปากเมื่อดื่มทาน


เปล่า – ไม่ได้จะชวนกันให้หันมาสนใจดอกมะลิ และไม่ได้กำลังทำธุรกิจขายดอกไม้อยู่แต่อย่างใด เราไม่จำเป็นต้องมีมะลิในสวนหลังบ้าน และเกือบไร้สาระถ้าจะหมกหมุ่นอยู่กับการควานหาน้ำลอยดอกมะลิมาดื่ม เพียงแต่กำลังพูดถึงมะลิในฐานะตัวอย่างบางความรู้สึกดีๆ บางความสุขเล็กๆ ที่เคยหาง่ายและใกล้ตัวแต่ถูกพรากไปโดยยุคสมัยอันวิ่งเร็วจี๋ที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่


นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่าน เขาบรรยายความรู้สึกของตัวละครตัวหนึ่งที่เคยพิศมัยเครื่องสำอางค์อันพอกหนาอยู่บนใบหน้าของประดาหญิงสาว กระทั่งครั้งหนึ่งตัวละครนี้ได้พบเด็กสาวซึ่งใบหน้าปราศจากเครื่องสำอางค์ทุกรูขุมขนหลุดเข้ามาในโคจรของประดาหญิงสาวหน้าหลากสีโดยบังเอิญ พลันนั้นตัวละครดังกล่าวก็รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในร้านดอกไม้ประดิษฐ์ที่สีสันสวยสดลานตา แล้วสายตาก็เหลือบไปเห็นดอกมะลิของจริงแท้ดอกหนึ่งซ่อนตัวอยู่ สีสันของมันขาวซื่อเกือบจืดชืดเมื่อเทียบกับสีสดของดอกไม้รอบข้าง ทว่ากลับให้ความรู้สึกละมุนละไมอย่างที่ดอกไม้สีสวยอื่นๆ ให้ไม่ได้


นั่นก็เพราะมันคือของจริง!


ชีวิตของเรามีมะลิอยู่หลายดอก หอมเชยๆ แต่ก็รู้สึกดีชะมัด และถ้าจะเอามะระเป็นตัวแทนเรื่องขมๆ ของชีวิตที่สมควรแก่การอดทนจนเอร็ดอร่อยแล้ว มะลิก็น่าจะแทนได้กับความเมตตาของอัลลอฮฺในชีวิตของเราที่สมควรแก่การขอบคุณให้สาแก่ใจ แม้จะเป็นเพียงแค่อะไรเล็กน้อยที่เราแทบจะมองผ่านเลย


ดอกมะลิในชีวิตเราอาจอยู่ในบ้านหลังเล็กที่อบอุ่น อวัยวะสมบูรณ์เปี่ยมเรี่ยวแรง หรือใครสักคนที่อยู่ด้วยแล้วแสนสบายใจ


กระทั่งในลมหายใจที่เฮือกไหลเข้าปอดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น…แท้จริงแล้วก็อวลกลิ่นดอกมะลิให้ได้ขอบคุณไม่รู้จบ


สำหรับผู้ศรัทธา…อะไรๆ ในชีวิตก็ดูช่างน่าอิจฉาไปเสียทั้งหมด
ถ้าในสำรับของชีวิตเขาวันนี้มีมะระขมปี๋ เขาก็รับประทานมันได้อย่างเอร็อดอร่อยด้วยความอดรดอรรอดทน
ถ้าในสำรับของชีวิตเขาวันนี้มีขันใส่น้ำลอยดอกมะลิหอมเย็น เขาก็รินซดมันได้อย่างชื่นใจด้วยการขอบคุณ


จะมะลิหรือมะระ…ก็แสนซือดะได้ด้วยศรัทธา
ซุบฮานัลลอฮฺ


…..


عَجَبًا لأَمْرِ المؤمنِ
إِنَّ أمْرَه كُلَّهُ لهُ خَيرٌ
ليسَ ذلكَ لأَحَدٍ إلا للمُؤْمنِ
إِنْ أصَابتهُ سَرَّاءُ شَكَرَ فكانتْ خَيرًا لهُ
وإنْ أصَابتهُ ضَرَّاءُ صَبرَ فكانتْ خَيرًا لهُ


” น่าประหลาดจริงๆ สำหรับกิจการของผู้ศรัทธา
แท้จริง กิจการของเขาทั้งหมดล้วนเป็นความดีสำหรับเขา
ดังกล่าวนี้จะไม่เกิดกับใครเว้นแต่ผู้ศรัทธาเท่านั้น
(กล่าวคือ) หากความดีมาประสบกับเขา เขาก็ขอบคุณ ดังนั้นมันจึงนเป็นความดีสำหรับเขา
และหากความชั่วมาประสบกับเขา เขาก็อดทน ดังนั้นมันจึงเป็นความดีสำหรับเขาอีกเช่นกัน”
(บันทึกโดยมุสลิม)